ปากินปาแอ่ว » ช้างก็หนาว ปางช้างแม่สา อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่นำชุดกันหนาวมาสวมให้กับช้างในปางเพื่อพบความอบอุ่น หลังอากาศหนาวเริ่มส่งผลกระทบทำให้ช้างชราและช้างน้อยเริ่มไม่สบาย

ช้างก็หนาว ปางช้างแม่สา อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่นำชุดกันหนาวมาสวมให้กับช้างในปางเพื่อพบความอบอุ่น หลังอากาศหนาวเริ่มส่งผลกระทบทำให้ช้างชราและช้างน้อยเริ่มไม่สบาย

8 มกราคม 2021
436   0

Spread the love


เจ้าหน้าที่และควาญช้าง ของปางช้างแม่สา ช่วยกันนำชุดกันหนาวช้างที่ผู้ใจบุญ คือ นายก อบต.ร่องฟอง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ บริจาคให้ จากเดิมเป็นผ้าผืนใหญ่ธรรมดาที่นำมาเย็บต่อกันเป็นผ้าห่มให้ช้าง แต่ครั้งนี้ได้ส่งพนักงานมาวัดสัดส่วนของช้างทุกเชือก ให้เข้ากับขนาด และออกแบบให้เข้ากับสรีระ เพื่อให้ช้างสามารถสวมใส่ชุดกันหนาวได้ โดยไม่รำคาญ และชุดไม่หลุดเวลาเดิน รวมทั้งยังขับถ่ายได้ตามปกติ

 


โดยวันนี้ได้นำชุดกันหนาว 7 ตัวที่ตัดเย็บจากผ้านาโนและผ้าสำลี มาทดลองใส่ให้ช้างทั้งหมด 7 เชือก อาทิ ช้างน้อยพังเอื้องคำ อายุ 3 ปี ช้างพังเพิ่มพูน อายุ 22 ปี ช้างพังแม่ม้า อายุ 50 ปี ช้างพังพรทิพย์ อายุ 50 ปี ช้างพังแม่วันเพ็ญ 2 อายุ 22 ปี พังแม่มูลอายุ 50 ปี และช้างพลายปู่บานเย็น อายุ 75 ปี

 


นางอัญชลี กัลมาพิจิตร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปางสาแม่สา จำกัด เปิดเผยว่า สภาพอากาศที่หนาวเย็นโดยเฉพาะช่วงกลางคืน และช่วงเช้า ซึ่งปางช้างตั้งอยู่ติดภูเขาจึงมีอากาศจึงหนาวเย็นกว่าพื้นราบ อุณหภูมิต่ำสุดอยู่ประมาณ 10 เซลเซียส ทำให้ควาญช้างต้องค่อยสุมไฟ และนำผ้ามาห่มให้ช้างทั้ง 73 เชือก เพื่อคลายหนาว โดยเฉพาะช้างชรา เพราะหากช้างป่วยเป็นไข้จะทำให้ช้างกินน้ำและอาหารน้อยลง
ทั้งนี้ปางช้างเองก็มีวัสดุผ้าห่มที่นำมาห่มให้ช้างช่วยคลายความหนาวเย็นอยู่แล้ว ในอนาคตเตรียมจะตัดเย็บชุดกันหนาวให้ช้างเพิ่มเติมจนครบทุกตัว หรือบางตัวที่มีขนาดตัวใหญ่ขึ้น ชุดกันหนาวเดิมก็จะตกทอดไปยังช้างที่ตัวเล็กกว่า

นางอัญชลี บอกว่า ถือเป็นไอเดียการตัดเย็บชุดกันหนาวให้กับช้างเป็นที่แรก เพราะปางช้างแม่สาเราห่วงใยสุขภาพช้างทุกเชือก ไม่อยากให้เจ็บป่วย นอกจากชุดกันหนาวช้างแล้ว ทุกๆวันจะให้สัตวแพทย์ตรวจวัดอุณหภูมิของช้างทุกเชือก โดยการใช้ปรอทไปเสียบไว้ในอุจาระของช้างที่เพิ่งขับถ่ายออกมา
ด้านนายสัตวแพทย์ณัฐพงศ์ อาษากิจ นายสัตวแพทย์ประจำปางช้างแม่สา กล่าวว่า การนำปรอทไปวัดอุณภูมิร่างกายของช้างจากอุจาระที่ขับถ่ายออกมา หรือนำปรอทไปเสียบที่รูทวาร ไม่ได้ตรวจวัดอุณหภูมิโดยตรงจากตัวของช้าง เนื่องจากขนาดตัวของช้างที่ค่อนข้างใหญ่จึงแตกต่างจากคน
ขณะที่อุณหภูมิร่างกายของช้างปกติจะอยู่ที่ 97 – 99 องศาฟาเรนไฮต์ แต่หากมีอุณหภูมิเกิน 100 องศาฟาเรนไฮต์ แสดงว่าช้างป่วยทำให้ช้างเชือกนั้นกินอาหารและน้ำได้ลดลง และช้างอาจล้มได้ จึงต้องดูแลเป็นพิเศษโดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว