รอบบ้านรอบเมือง » พายุฤดูร้อนพัดถล่มพัด แผ่นทองจังโกหุ้มพระเจดีย์ โบราณสถานในวัดสวนดอกปลิวหลุดจนเสียหาย เจ้าอาวาสเตรียมประสานกรมศิลปตรวจสอบวางแผนบูรณะ

พายุฤดูร้อนพัดถล่มพัด แผ่นทองจังโกหุ้มพระเจดีย์ โบราณสถานในวัดสวนดอกปลิวหลุดจนเสียหาย เจ้าอาวาสเตรียมประสานกรมศิลปตรวจสอบวางแผนบูรณะ

27 มีนาคม 2021
870   0

Spread the love

 

พายุฤดูร้อนพัดถล่มพัด แผ่นทองจังโกหุ้มพระเจดีย์ โบราณสถานในวัดสวนดอกปลิวหลุดจนเสียหาย เจ้าอาวาสเตรียมประสานกรมศิลปตรวจสอบวางแผนบูรณะ เผยเป็นภัยธรรมชาติไม่เกี่ยวกับอาเพศ เหตุลมเปลี่ยนทิศพัดมาทางทิศเหนือที่ไม่มีต้นไม้บัง

หลังจากช่วงเย็นวานนี้ ( 26 มีนาคม) เกิดพายุฤดูร้อน และลมกรรโชกแรงในหลายพื้นที่ของจังหวัดเชียงใหม่ โดยเฉพาะตัวเมืองเชียงใหม่ที่พายุฝนพัดถล่มถล่มนานกว่า 30 นาที ส่งผลให้แผ่นทองจังโกที่ห่อหุ้มองค์พระเจดีย์ประธานองค์ใหญ่ ของวัดสวนดอกพระอารามหลวง หลุดร่วงลงมา จนองค์พระเจดีย์เปิดเผยให้เห็นองค์พระเจดีย์ด้านใน หลังเกิดเหตุพระสงฆ์และสามเณรได้ช่วยกันนำแผ่นทองจังโกที่หลุดร่วงลงมาไปเก็บรักษาไว้


ล่าสุดเช้าวันนี้ ( 27 มีนาคม) ผู้สื่อข่าวได้สัมภาษณ์ พระราชรัชมุนี เจ้าอาวาสวัดสวนดอก พระอารามหลวง ทราบว่า ช่วงเย็นวานนี้เกิดพายุฝนและลมแรง ปกติกระแสลมจะพัดเข้ามาทางทิศใต้ซึ่งมีต้นไม้ขนาดใหญ่บังอยู่ องค์พระธาตุจึงไม่ได้รับความเสียหาย แต่วานนี้กระแสลมพัดมาทางทิศเหนือ ซึ่งไม่มีต้นไม่ใหญ่บังและกระแสลมค่อนข้างแรงจึงพัดแผ่นทองจังโกหลุดออกจากองค์พระเจดีย์จนได้รับความเสียหาย


ทั้งนี้ในวันจันทร์ที่ 29 มีนาคม เตรียมจะประสานไปยังสำนักงานศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ให้ส่งเจ้าหน้าที่มาสำรวจความเสียหายเพื่อเตรียมบูรณะ เนื่ององค์พระเจดีย์ของวัดสวนดอกได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานไว้กับกรมศิลปากร
ซึ่งทางวัดก็มีแผนที่จะบูรณะองค์พระเจดีย์ดังกล่าวอยู่แล้ว เนื่องจากไม่ได้บูรณะซ่อมแซมมานานกว่า 15 ปีแล้ว โดยเตรียมจะเปลี่ยนแผ่นทองที่ห่อหุ้มยอดฉัตร จากแผ่นทองจังโก ให้เป็นทองคำแท้ แต่ด้วยราคาทองคำที่สูงขึ้น จากเดิมตั้งคาดจะใช้งบประมาณราว 15 ล้านบาท ก็สูงขึ้นเป็น 17 ล้านบาท จึงต้องวางแผนใหม่เพื่อหาปัจจัยมาซ่อมแซม
พระราชรัชมุนี กล่าวเพิ่มเติมว่า แผ่นทองจังโกที่ถูกกระแสลมจากพายุพัดจนหลุดร่วงลงมา เกิดจากภัยธรรมชาติ ซึ่งก็มีหลายพื้นที่ได้รับความเสียหาย จึงไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องของเภทภัยใดๆ
สำหรับวัดสวนดอก สร้างขึ้นภายในเวียงสวนดอก ซึ่งเป็นเขตพระราชทานอุทยานในสมัยพระเจ้ามังรายโดยพญากือนา กษัตริย์องค์ที่ 6 แห่ง ราชวงศ์มังราย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเป็นพระอารามหลวง เพื่อให้เป็นที่จำพรรษาของ “พระสุมนเถระ” ผู้ประดิษฐานพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ ในแผ่นดินล้านนา และสร้างองค์พระเจดีย์เพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ 1 ใน 2 องค์ ที่พระสุมนเถระอัญเชิญมาจากสุโขทัย ในปี พ.ศ. 1912 พระเจดีย์ใหญ่เป็นทรงลังกาบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ แต่เดิมมีเจดีย์แบบสุโขทัย (ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์) อยู่ทางทิศตะวันตกขององค์พระเจดีย์ใหญ่ แต่ได้ปรักหักพังลง พระเจดีย์องค์ใหญ่สูง 24 วา